วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Politique de la France

การเมืองของฝรั่งเศส

          สาธารณรัฐฝรั่งเศสปกครองด้วยระบอบ ประชาธิปไตย แบบสาธารณรัฐเดี่ยวกึ่งประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2501 โดยผ่านการลงประชามติ สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญนั้นคือการเพิ่มอำนาจประธานาธิบดี อำนาจฝ่ายบริหารนั้นถูกแบ่งออกและมีหัวหน้า 2 คน ซึ่งก็คือประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงแบบสากล มีวาระ 5 ปี (เดิม 7 ปี) มีตำแหน่งประมุขแห่งรัฐอีกด้วย และนายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรัฐบาล ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

          รัฐสภาฝรั่งเศสนั้นแบ่งออกเป็น 2 สภาได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร (Assemblée Nationale) และ วุฒิสภา (Sénat) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนในเขตเลือกตั้ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 5 ปี สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีและเสียงข้างมากใน สภาสามารถกำหนดการตัดสินใจของรัฐบาลอีกด้วย สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกของคณะผู้เลือกตั้ง มีวาระ 6 ปี (เดิม 9 ปี)

 ปาเลส์ บูร์บง (Palais Bourbon) สถานที่ทำการของสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส



ปาเลส์ ดู ลูซองบูร์ก (Palais du Luxembourg) สถานที่ทำการของวุฒิสภาฝรั่งเศส


พระราชวังแวร์ซายส์ สถานที่ทำการที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาฝรั่งเศส
          รัฐสภาฝรั่งเศส (Parlement français) เป็นสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติในระบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส โดยยึดระบบสองสภา (Bicamérisme) ซึ่งประกอบไปด้วย

สภาสูง (Chambre haute) หรือเรียกว่า วุฒิสภา (Sénat) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม

สภาล่าง (Chambre basse) หรือเรียกว่า สภาผู้แทนราษฎร (Assemblée nationale française) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน 

โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือชาวฝรั่งเศสทั้งหญิงและชาย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (Conditions de candidature et d'éligibilité) มีดังนี้

1. คุณสมบัติ (Eligibilité) 
บุคคล สัญชาติฝรั่งเศสทั้งเพศหญิงและชายมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ยังต้องไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด

2. ลักษณะต้องห้าม (Inéligibilité)

2.1 ลักษณะต้องห้ามอันเกี่ยวข้องกับลักษณะบุคคล
• อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง การควบคุมในทางปกครอง 
• ต้องโทษมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 
• ถูกประกาศให้เป็นบุคคลล้มละลาย ถูกห้ามมิให้บริหารงานรัฐวิสาหกิจ หรือต้องสะสางบัญชีทรัพย์สินตามคำสั่งศาล 
• ไม่ได้เข้ารับการเกณฑ์ทหารตามกฎหมาย 

2.2 ลักษณะต้องห้ามอันเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ 
ผู้ ดำรงตำแหน่งซึ่งมีผลประโยชน์ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมแก่ผู้สมัคร ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภา กฎหมายได้ระบุถึงตำแหน่งหน้าที่ ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ และระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอันมีลักษณะต้องห้ามไว้ ดังนี้ 

• เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินของสาธารณรัฐในทุกเขตเลือกตั้ง 
• เป็นผู้ว่าการจังหวัดซึ่งดำรงตำแหน่งในเขตเลือกตั้งนั้น หรือได้ปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี 
• ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในเขตเลือกตั้งนั้นหรือเคยปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน 
• เป็นผู้พิพากษา 
• เป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ทำหน้าที่บังคับบัญชาในเขตนั้น 
• เป็นข้าราชการ ผู้รับผิดชอบด้านงานบริหาร หรือการกำกับดูแลในองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรระดับภาค องค์กรระดับจังหวัดแห่งสาธารณรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น